สอนการพูดอย่างเป็นธรรมชาติ

ในขณะที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ มีผลให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องปฏิรูปโฉมหน้าใหม่จากการที่ครูผู้สอนเคยมีบทบาทสำคัญที่สุดในห้องเรียน หรือเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนการสอน ก็กลับกลายมาเป็นการให้ความสำคัญที่สุดอยู่ที่ผู้เรียน ตามแนวคิดหลักหรือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาที่ว่า “เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ในสาระสำคัญของการจัดการศึกษาตามแนวการปฏิรูปนี้จะเน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนสามารถพัฒนา ศักยภาพของตนตามขีดความสามารถอย่างสูงสุดโดยเน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ตลอดจนการให้โอกาสในการพัฒนาที่จะสามารถถูกประเมินออกมาตามสภาพจริง นอกจากนี้ในสาระของการปฏิรูปการศึกษาดังกล่าวยังเน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักแต่ในขณะเดียวกันก็คงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปที่ครูจะวางแผนหรือจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อสนองตอบในประเด็นดังกล่าว

การสอนให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การสอนแต่ในภาควิชาการที่เป็นข้อมูลความรู้เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความคิดของคนเราให้สามารถขยายออกไปได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นก็คือ การเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้ภาษา เพราะภาษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงความคิดของเราให้ขยายวงกว้างออกไป และช่วยทำให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจสิ่งที่เราคิดได้อย่างง่ายดาย ถ่องแท้ ดังที่ น.ม.ส. ได้ทรงชี้ให้เห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ว่า

ภาษาเปรียบเทียบกล้องส่องความคิด ภาพน้ำจิตอาจเห็นได้เด่นใสถ้าเขียนพูดปูดเปื้อนเลอะเลือนไป ก็น้ำใจฤาจะแจ่มแอร่มฤทธิ์เงาพระปรางค์วัดอรุณอรุณส่อง ย่อมผุดผ่องกว่าเงาแห่งเตาอิฐก็คำพูดนั้นเล่าเงาความคิด เปรียบเหมือนพิศพักตร์ชะโงกกระโหลกทึก

การใช้ภาษาเพื่อแสดงความคิดหรือการพยายามที่จะอธิบายความคิดให้คนอื่นได้เข้าใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสามารถในด้านทักษะการพูดที่ดีพอสมควร เพราะจะทำให้ผู้อื่นสามารถรับรู้และเข้าใจความคิดของเราได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันผู้พูดยังมีโอกาสได้ขัดเกลาความคิดของงานให้เด่นชัดและแหลมคมยิ่งขึ้น เพราะถ้าคนเราขาดทักษะด้านการพูดที่ดีพอก็อาจจะเกิดการติดขัด เสียเวลาหรืออาจจะต้องวกวนไปมาจนผู้อื่นเกิดความรำคาญ ในขณะเดียวกัน เมื่อผู้ใดมีโอกาสใช้ภาษาถ่ายทอดความคิดใด ๆ ออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อสื่อสารกับคนอื่น ความคิดของผู้นั้นก็จะสามารถพัฒนายิ่งขึ้นไปทุกครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า หากความสามารถในการคิดของผู้ใดมีอยู่อย่างจำกัด ความสามารถในการใช้ภาษาก็จะพลอยถูกจำกัดไปด้วย ถ้าความสามารถในการใช้ภาษามีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ความสามารถในการคิดก็จะถูกจำกัดลง อันเป็นผลสืบเนื่องกันต่อมาด้วย

ดังนั้น บทบาทของครูผู้สอนวิชาภาษาไทยจึงจะต้องช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะการพูดของ ผู้เรียนให้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้ส่งเสริมการใช้ความคิดของผู้เรียนให้เด่นชัดและแหลมคมยิ่งขึ้น โดยใช้การสร้างสภาพการณ์และบรรยากาศในห้องเรียนให้เกิดประโยชน์และเอื้ออำนวยได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันครูก็จะต้องคำนึงถึงหลักการเรียนรู้ภาษาตามธรรมชาติที่จะต้องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับชีวิตจริงให้มากที่สุดด้วย กล่าวคือ ในการเรียนการสอนที่เน้นการให้ความสำคัญแก่ผู้เรียน หรือการยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ครูจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อการให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดของตน หรือแสดงความคิดของตนเองต่อสารธารณชน คือ เพื่อนในชั้นเรียนอยู่ตลอดเวลา การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสอภิปรายในประเด็นหัวข้อที่ครูกำหนดขึ้นก็จะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ครูสามารถจัดให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน การให้นักเรียนเป็นตัวแทนของกลุ่มมานำเสนอผลสรุปของความคิดของกลุ่มก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ครูสามารถใช้ได้ หรือการเปิดอภิปรายทั่วไป ตลอดจนการอภิปรายแบบระดมสมองในชั้นเรียนอยู่บ่อย ๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ ผู้เรียนได้มีโอกาสพูดแสดงความคิดเห็นอย่างเคยชินจนผู้เรียนเกิดความรู้สึกมั่นใจ และคุ้นเคยกับการพูดแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมา ต่อจากนั้นครูจึงค่อย ๆ เติมหลักการที่เป็นภาควิชาการ เกี่ยวกับทฤษฎีการพูดลงไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะนั่งสอนแต่ทฤษฎีการพูดที่เป็นเรื่องเป็นราว แล้วก็สั่งให้ผู้เรียนไปเตรียมการพูดมาเพื่อจะปฏิบัติการหน้าชั้นเรียนซึ่งจะกลายเป็นการสร้างความ กดดันให้กับผู้เรียนที่ขาดประสบการณ์ หรือไม่มีความกล้าแสดงออกเท่าที่ควร แต่ถ้าครูผู้สอนค่อย ๆ แทรกซึมการพูดลงไปในการเรียนการสอนอยู่เสมอ ๆ อย่างต่อเนื่องแล้วละก็ น่าจะเป็นผลดีที่จะเกิดขึ้นแก่ตัวผู้เรียนมากกว่าวิธีการเดิม ๆ และในที่สุดเมื่อครูผู้สอนพบว่า นักเรียนเริ่มคุ้นเคยและกล้าแสดงออก

ในการพูดแสดงความคิดเห็นของตนมากขึ้นแล้ว จึงค่อยเริ่มให้นักเรียนได้พูดแสดงความคิดเห็น หรือพูดเล่าเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนพูดในเรื่องที่กำหนดให้หน้าชั้นเรียนที่เป็นรูปแบบเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการประเมินผลการพูดหรือคำแนะนำของครูผู้สอนที่ควรให้เป็นการเสริมแรงและสร้างกำลังใจแก่ผู้เรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่ครูต้องไม่มองข้ามไปเช่นกัน

ผู้เขียนมั่นใจว่า แนวคิดการสอนการพูดอย่างเป็นธรรมชาติที่ผู้สอนค่อยแทรกซึมให้ ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการพูดไปอย่างต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไปเนนี้น่าจะทำให้ผู้เรียนสามารถมีพัฒนาการในด้านการพูดที่ดีขึ้น และยังเป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพทางด้านความคิดของผู้เรียนให้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้นอีกด้วย เพื่อให้แนวคิดของการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบรรลุจุดมุ่งหมายได้ในที่สุด

* อาจารย์ประจำแผนกภาษาไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ศษ.บ. (เกียรตินิยม อันดับ 2) , กศ.ม. (ภาษาไทย)

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 . กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค , 2542.
กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ. แบบเรียนวรรณลักษณ์พิจารณ์ เล่ม 1 . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา , 2538.

  1. ยังไม่มีความคิดเห็น
  1. ยังไม่มี trackbacks