สอนฟังอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพ

การฟัง เป็นทักษะในการรับสารที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะก่อนที่มนุษย์เราจะเริ่มมีการสื่อสารกัน มนุษย์จะต้องเริ่มต้นที่ทักษะแรกเสียก่อนนั่นคือ ทักษะการฟัง เพราะมนุษย์จะเริ่ม รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเข้ามาภายในสมอง แล้วจัดการกระทำกับข้อมูลที่ได้รับเข้ามานั้นให้เกิด ประสิทธิภาพ เพื่อจะตอบสนองออกมาเป็นทักษะในการส่งสารเพื่อให้การสื่อสารในครั้งนั้น ๆ บรรลุวัตถุประสงค์ ในการสอนทักษะการฟังในสถานศึกษาต่าง ๆ มักจะถูกมองข้ามไปด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่า กระบวนการฟังเป็นทักษะที่สามารถวัดออกมาเป็นรูปธรรมได้ค่อนข้างยาก ไม่เหมือนกับการอ่านการพูด และการเขียนที่จะสามารถทราบถึงสมรรถนะของผู้รับสารได้ในทันทีว่า ประสิทธิภาพของทักษะทั้ง 3 ด้านหลังนี้ สามารถมองเห็นผลและพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ประสิทธิผลและพัฒนาการของการฟังเป็นกระบวนการที่อยู่ในสมองของคนเราซึ่งจะไม่สามารถแสดงออกมาให้เห็นได้ในทันที นอกเสียจากจะมีสภาพการณ์ในการสื่อสารเกิดขึ้นเสียก่อน จึงจะสามารถทราบได้ถึงสมรรถภาพของทักษะการฟังได้

เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เหตุใดตามโรงเรียนต่าง ๆ ที่สอนวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ จึงไม่มีการสร้างห้องปฏิบัติการภาษาไทยเหมือนกับที่มีห้องปฏิบัติการภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาทุกแห่ง เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ในวิชาภาษาต่างประเทศนั้นเราไม่มีเจ้าของภาษา หรือ native speaker ดังนั้น จึงต้องมีการสร้างห้องปฏิบัติการทางภาษาขึ้นมาเพื่อนักเรียนจะได้ฝึกทักษะการฟังจากแถบบันทึกเสียงโดยเจ้าของภาษาที่เป็น native speaker อย่างแท้จริง ในขณะที่วิชาภาษาไทยนั้น สอนโดยเจ้าของภาษาซึ่งเป็นครูคนไทยอยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้เรียนจึงได้ฟังการพูดจากครูคนไทยและเป็นครูสอนภาษาไทยที่มีความชัดเจนในการออกเสียงอักขระภาษาไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสอนทักษะการฟังเป็นไปตามเหตุผลเช่นที่กล่าวมาแล้วแน่หรือ และในชีวิตประจำวันของผู้เรียนจะฝึกเพียงทักษะการฟังจากการพูดของคนในการสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ ในชั้นเรียนเพียงเท่านี้หรือ นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นคำถามหลักที่ผู้เขียนซึ่งเป็นครูสอนภาษาไทยเกิดความใส่ใจและสนใจหาคำตอบ

ในชีวิตประจำวันตามธรรมชาติของคนเรา จำเป็นจะต้องได้ยินและได้ฟังเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ อย่างมากมายหลายรูปแบบ ทั้งส่วนที่เป็นสาระความรู้ ส่วนที่เป็นความบันเทิงเริงรมย์ ส่วนที่เป็นการจรรโลงใจ โน้มน้าวใจ และอะไรต่าง ๆ มากมายด้วยกัน เช่น เมื่อเราได้ยินได้ฟังเสียงเพลงจากเครื่องเล่นวิทยุเพลงหนึ่ง เราก็จะต้องรับรู้ว่าอะไรคือ เนื้อหาสารพของบทเพลงที่ได้ยินได้ฟังนั้น นอกจากนี้ยังต้องบอกได้ต่อไปว่า ผู้แต่งเพลงนี้ต้องการจะสื่ออะไรกับผู้ฟัง สิ่งที่สื่อออกมานั้นเหมาะสมหรือไม่ หรือมีคุณค่าเหมาะสมกับผู้ฟังอย่างไร ดังนั้น ทักษะการฟังจึงไม่ใช่สิ่งที่จะถูกมองข้ามไปได้เหมือนดังที่หลายคนเข้าใจอีกต่อไป ตรงกันข้าม ครูสอนภาษาไทยทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกฝนทักษะนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการสะสมพื้นฐานข้อมูลความรู้เพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพของตนต่อไป

การสอนทักษะการฟังจึงไม่ใช่เป็นเพียงการปล่อยให้ผู้เรียนสังเกตจากการได้ยินเสียงพูดของครูไปตามธรรมชาติที่ไม่มีหลักการหรือรูปแบบของการฝึกฝน แต่ครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการฝึกทักษะ การฟังอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเน้นการฟังจากชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสได้พบเห็น ได้ยิน ได้ฟังอยู่ตลอดเวลา เช่น การฟังข้อมูลข่าวสาร การฟังบทเพลง การฟังข้อมูลจากการประชุม การฟังสารโน้มน้าวใจจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีการฟังในชีวิตจริงที่จะต้องมีโอกาสเกิดขึ้นเช่นนี้แล้ว การฟังในการฝึกฝนทักษะการเรียนในโรงเรียนก็ควรจะต้องสอนและ ฝึกทักษะให้สอดคล้องกันไปด้วย เพื่อผู้เรียนจะได้มีทัศนคติต่อการฝึกฝนการฟังในชั้นเรียนว่า ได้เรียนรู้ในเรื่องที่จะเกิดประโยชน์โดยตรงกับตัวผู้เรียน และผู้เรียนก็จะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการฝึกฝนทักษะดังกล่าวมาใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูสอนภาษาไทยจึงขอนำเสนอแนวคิดที่จะใช้เป็นแนวทางในการสอน กิจกรรมการฟังในชั้นเรียนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยด้วยกัน กล่าวคือ ในการสอนฟังนั้นครูผู้สอนจะต้องพิจารณาประเด็นการฝึกทักษะเสียก่อนว่า ในระดับชั้นเรียนที่จะต้องสอนนั้น จำเป็นจะต้องฝึกทักษะการฟังในระดับใด เช่น ฝึกการฟังเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่อง หรือฝึกการใช้วิจารณญาณในการฟัง หรือ การฝึกการประเมินค่าสารที่ได้จากการฟัง เป็นต้น จากนั้นครูผู้สอนก็จะต้องสร้างความเข้าใจในหลักการของจุดมุ่งหมายในการฝึกแต่ละครั้งว่าถ้าต้องการฝึกการฟังเพื่อจับใจความสำคัญเท่านั้น ครูผู้สอนก็จะต้องสร้างแบบคำถามหรือแบบทดสอบเพื่อเป็นการตรวจสอบว่าผู้เรียนสามารถเกิดสมรรถนะในการฟังดังกล่าวนี้ได้จริง หรืออาจจะให้ผู้เรียนได้จดบันทึกสาระสำคัญที่ได้จากการฟังตามหัวข้อที่กำหนดให้ จากนั้นก็จะมีการตรวจประเมินผลและแจ้งให้

ผู้เรียนได้ทราบถึงสมรรถนะของตนเอง และก็จะมีการฝึกทักษะไปเรื่อย ๆ จนสามารถมองเห็นพัฒนาการของการฟังในสมรรถภาพนี้ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ครูผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงเรื่องที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะการฟังว่าจะต้องมีความหลากหลาย มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนในแต่ละกลุ่มด้วย เช่น หากกลุ่มผู้เรียนเป็นวัยรุ่นในช่วงอายุระหว่าง 13 – 15 ปี ซึ่งอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น การฝึกทักษะการฟังเพื่อจับใจความสำคัญอาจจะจัดเนื้อหาที่ฟังเป็นเนื้อหาจากบทเพลงที่นักเรียนได้เลือกขึ้นมาจากความชื่นชอบหรือกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในยุคสมัยขณะนั้น เพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาภาษาไทยว่าเป็นการเรียนรู้ในสิ่งใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของตน จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่ครูผู้สอนจะต้องผูกขาดกับการฟังเรื่องทางวิชาการเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นการแยกโลกของการเรียนรู้ในชั้นเรียนออกจากโลกของความเป็นจริงที่ผู้เรียนได้พบเห็นอยู่ และในกรณีนี้ผู้เรียนจะสามารถนำเอาความรู้ที่ได้จากการฝึกทักษะในชั้นเรียนไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันอีกด้วย ในขณะเดียวกันครูผู้สอนก็จะต้องชี้ให้ผู้เรียนเห็นต่อไปอีกว่า หากผู้เรียนสามารถมีพัฒนาการในสมรรถภาพการฟังได้ในระดับดีพอสมควรแล้ว ผู้เรียนก็จะสามารถนำมาใช้ได้กับการเรียนวิชาอื่น ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะการเรียนรู้วิชาการใด ๆ ก็ตามจะต้องอาศัยทักษะการฟังเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการรับสารอย่างแน่นอน นับว่าเป็นการสอนในแนวบูรณาการตามจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปการศึกษาที่เหมาะสมอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า แนวทางในการสอนทักษะการฟังให้แก่ผู้เรียนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับครูผู้สอนที่จะเน้นพัฒนาการในทักษะการฟังให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะทักษะการฟังเป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการรับสารที่จำเป็นของมนุษย์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ในขณะเดียวกัน ผู้เรียนก็จะเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชา ภาษาไทยว่าเป็นการเรียนรู้เรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันที่ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลหรือแยกโลกของความจริงกับการเรียนรู้ใน ชั้นเรียนออกจากกันแต่อย่างใด และประการสำคัญครูผู้สอนภาษาไทยก็จะสามารถหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาที่ว่า ไม่ทันสมัย หรือสอนในสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายให้แก่ผู้เรียนไปได้ในที่สุด

บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, มล. ภาษาไทยวิชาที่ถูกลืม. กรุงเทพฯ : บูรพาสาส์น, 2520.
สุจริต เพียรชอบ. การสอนภาษาไทยในโรงเรียนมัธยมศึกษา. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนา พานิช, 2528.

  1. ยังไม่มีความคิดเห็น
  1. ยังไม่มี trackbacks