สอนภาษาไทยแบบให้ อี.คิว

คงยังไม่ล้าสมัยเกินไปถ้าจะกล่าวถึงเรื่องของ อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE)หรือที่มีการเรียกชื่อเป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการว่า “ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์” หรือ “เชาวน์ปัญญาทางอารมณ์” เพราะในขณะนี้สังคมไทยกำลังตื่นตัวกันในเรื่องของ อี.คิว. มากขึ้นกว่าแต่ก่อนที่มักเน้นเรื่อง ไอ.คิว (INTELLIGENCE QUATIENT) เพียงอย่างเดียว ยิ่งใน จุดมุ่งหมายหลักของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า การศึกษาในปัจจุบันมุ่งให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมจริยธรรม และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข นั่นหมายความว่า ครูผู้สอนจะเน้นเพียงแต่ให้ผู้เรียนของตนเป็นคนเก่งอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว แต่จะต้องทำให้ผู้เรียนเป็นทั้งคนเก่ง คนดี และเป็นคนที่มีความสุขไปพร้อม ๆ กันด้วย ด้วยเหตุนี้ อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE) จึงเป็นเรื่องที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในขณะนี้ที่ครูผู้สอนทุกคนจะต้องให้ความใส่ใจ และพยายามสร้างให้มีขึ้นให้ได้ในตัวผู้เรียน

สอนภาษาไทยกันอย่างไรจึงจะทำให้ผู้เรียนได้อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE) จึงเป็นเรื่องที่ครูผู้สอนภาษาไทยทุกคนควรใส่ใจและนำมาเป็นจุดมุ่งหมายประการหนึ่งในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นพัฒนาทักษะทางภาษา คือ การฟัง การพูด การอ่าน การเขียน ของตัวผู้เรียน ความจริงถ้าจะว่ากันไปแล้วเรื่อง อี.คิว. ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมตะวันออกที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เพราะ แดลเนียล โกลด์แมน ผู้ศึกษาในเรื่อง อี.คิว.(EMOTIONAL INTELLIGENCE) ก็ได้มาศึกษาพุทธศาสนาของชาวตะวันออกแล้วนำไปประยุกต์เป็นแนวคิดในเรื่องนี้ ดังนั้น อี.คิว. กับคนไทยที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนมีความคุ้นเคย และเป็นพื้นความรู้ในเรื่อง อี.คิว.กันมาบ้างพอสมควร

อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE) หรือ ความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ นี้เป็นสภาวะของบุคลที่สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างชาญฉลาด สามารถรู้เท่าทันภาวะทางอารมณ์ของตนเอง และสามารถควบคุมจัดการกับภาวะทางอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมในขณะนั้น อี.คิว. เป็นเรื่องที่คนเราต้องได้รับการปลูกฝัง การอบรมเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดีตั้งแต่ในวัยเด็ก ต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาที่ค่อนข้างยาวนานจึงจะสามารถเห็นผลได้ ในขณะเดียวกันคนที่ระดับสติปัญญาสูง หรือระดับ ไอ.คิว.สูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่มี อี.คิว.สูงตามไปด้วย ดังนั้น การสร้างเสริมและพัฒนา อี.คิว.ในตัวบุคคลจึงต้องค่อย ๆ กระทำไปเรื่อยๆตั้งแต่เยาว์วัย และจะต้องทำอย่างต่อเนื่องกันไปจึงสอดคล้องเหมาะสมกันพอดีกับแนวคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแนวปฏิรูปการศึกษาที่เน้นในเรื่องของการบูรณาการให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด นั่นคือครูผู้สอนจะไม่มุ่งหวังแต่จะสอนเฉพาะส่วนที่เป็นข้อความรู้เท่านั้น แต่ครูผู้สอนจะต้องสอดแทรกในเรื่องจำเป็นต่อการสร้างเสริมสิ่งที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ให้มากที่สุด

ภาษาไทยเป็นวิชาที่เน้นการพัฒนาทักษะในตัวผู้เรียนให้เป็นผู้มีความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียนที่ดี และมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ครูผู้สอนภาษาไทยจึงจะต้องพยายามหากลวิธีการสอน ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างสูงสุด และผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองหลังจากการเรียนรู้ในชั้นเรียนจบลง แต่ในขณะเดียวกันครูผู้สอนภาษาไทยก็จะต้องมีบทบาทสำคัญในการบูรณาการสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนในส่วนที่นอกเหนือไปจากหลักวิชา หรือข้อความรู้ด้วย นั่นก็คือครูผู้สอนภาษาไทยจะต้องพยายามสอดแทรกแนวคิด หรือหากุศโลบายในการปลูกฝัง สั่งสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้เรียนได้ซึมซาบและรับรู้สิ่งที่ควรจะมี และควรจะเป็นให้เกิดขึ้นในตัวเองให้ได้มากที่สุด ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นครูภาษาไทยคนหนึ่ง จึงอยากจะเล่าประสบการณ์ในการสอนภาษาไทยในชั้นเรียนที่ให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนา อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE) สอดแทรกไปด้วย เช่น ในครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสสอนวรรณคดีไทย เรื่อง อิเหนา ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอน“ศึกกะหมัง กุหนิง” ในเนื้อความตอนหนึ่งของบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ว่า“แม้นวิหยาสะกำมอดม้วย พี่ก็คงตายด้วยโอรสา ไหนไหนก็จะตายวายชีวา ถึงเร็วถึงช้าก็เหมือนกัน” จากบทพระราชนิพนธ์ตอนนี้ ชี้ให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูกอย่างเปี่ยมล้น นั่นคือ ความรักที่ท้าวกะหมังกุหนิงทรงมีต่อวิหยาสะกำ พระราชโอรส ที่ยอมยกกองทัพมาทำสงครามกับกษัตริย์วงศ์เทวัญ เพื่อจะแย่งชิงนางบุษบามาให้แก่วิหยาสะกำพระราชโอรสของพระองค์ ทั้ง ๆ ที่ทรงทราบว่า ท้าวดาหาได้ทรงยกนางบุษบาให้แก่จรกาไปก่อน ในตอนนี้ นอกจากผู้เขียนจะได้สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในเรื่องแล้ว ยังชี้ให้เห็นค่านิยมของสังคมในเนื้อเรื่องที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากชวา เพราะบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา มีต้นเค้าเรื่องมาจากชวา กล่าวคือในชวานั้น การทำศึกรบพุ่งชิงชัยกันเพื่อแย่งชิงนาง เป็นเรื่องที่สมเกียรติศักดิ์ของกษัตริย์อย่างยิ่ง ซึ่งผิดไปจาก ค่านิยมของสังคมไทยที่อาจจะมองได้ว่า เป็นการสมควรแล้วหรือ ที่จะต้องมารบพุ่งชิงชัยกันเพื่อแย่งชิงผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นเพียงการสอนวรรณคดีไทยแบบปกติที่ครูผู้สอนภาษาไทยพึงจะกระทำอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของการเรียนการสอน แต่หากจะสร้างเสริมและปลูกฝังเรื่อง อี.คิว. (EMOTIONAL INTELLIGENCE) ในตัวผู้เรียนก็คงจะต้องนำประเด็นเหตุการณ์นี้หยิบยกมาพูดต่อไปอีก ถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก ดังเช่นความรักของท้าวกะหมังกุหนิงที่ทรงมีต่อวิหยาสะกำ พระราชโอรสของพระองค์ จริงอยู่ที่ว่า ธรรมดาแล้วพ่อแม่ ทุกคนก็ย่อมรักและห่วงใยในลูกของตน แต่ความรักในกรณีนี้เป็นความรักที่ถูกทางหรือไม่ ถ้านำมาเทียบกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้นความรักของพ่อที่มีต่อลูกในกรณีเช่นนี้ส่งผลอย่างไรบ้างต่อชีวิตลูก รักลูกแบบผิด ๆ ตามใจลูกแบบผิด ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แก่ใจดีว่า จะต้องเกิดความพินาศย่อยยับอาจจะถึงแก่ชีวิตแต่ก็ยังจะรัก หรือตามใจ สิ่งเหล่านี้เป็นการสมควรหรือเหมาะสม หรือไม่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ลูกที่ได้ความรักแบบนี้จากพ่อแม่ บั้นปลายของชีวิตในอนาคตจะเป็น อย่างไร ครูผู้สอนก็จะโยงจากเนื้อเรื่องให้ผู้เรียนได้มองเห็นอย่างชัดเจนแล้วก็พยายามชี้ต่อไปว่า ทำไมพ่อแม่ของลูก ๆ ทุกคนจึงไม่ยอมตามใจในทุก ๆ เรื่อง ทำไมพ่อแม่ของลูก ๆ ทุกคนจึงต้องมีการวางกรอบระเบียบ หรือสร้างวินัยภายในบ้านขึ้นมาบังคับลูก ๆ ของตน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนที่เป็นลูก ๆ ทุกคนได้รู้จักใช้ความคิด ใช้สติปัญญาใคร่ครวญพินิจพิจารณาถึงความรักของพ่อแม่ของตนว่ามีคุณค่าเพียงใดเพื่อให้ผู้เรียนสามารถรับรู้เข้าใจถึงความรักความปรารถนา ความรักที่ตนได้รับจากพ่อแม่ของตนอย่างแท้จริงด้วยตนเอง เพื่อผู้เรียนจะได้ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับความรักความห่วงใยที่ตนได้รับจากพ่อแม่ของตนนั่นเอง

จะได้เห็นว่าคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปนักสำหรับการสอนภาษาไทยแบบ บูรณาการ โดยได้ทั้งข้อความตามหลักวิชา และได้พัฒนาคุณสมบัติที่ต้องการจะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน เพียงแต่ครูผู้สอนจะต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่พร้อมจะขยายโลกทัศน์ของตนให้กว้างยิ่งขึ้น พยายามหาทางเชื่อมโยงสิ่งที่จะเป็นภูมิคุ้มกันชีวิต และเป็นข้อคุณธรรมจริยธรรมในวิถีวัฒนธรรมไทยที่พึงประสงค์ มาบรรจุเอาไว้ในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน เพื่อเป็นการช่วยกันทำให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ คุณธรรมจริยธรรมได้อย่างแท้จริง โดยไม่ได้เป็นการฝันเฟื่องที่ไร้จุดหมายกันอย่างที่ใคร ๆ ชอบพูดกันเสมอ อย่างน้อยก็มีพวกเรา ครูผู้สอนภาษาไทยนี่แหละ ที่จะแอบภูมิใจในผลงานที่ได้ฝากไว้ในแผ่นดิน

  1. ยังไม่มีความคิดเห็น
  1. ยังไม่มี trackbacks