สิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น

เมื่อได้ยินข้อความที่ว่า “สิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น” หลายคนอาจจะเข้าใจ และ ตีความกันไปได้ว่า บางครั้งภาพที่ปรากฏต่อหน้าของคนที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับความเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา อาจจะไม่ใช่ภาพที่เขาบรรจงสร้างขึ้นมาก็เป็นได้ เข้าทำนอง “ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง” หรือ “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก” แต่อันที่จริงแล้ว ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะเขียนถึงเรื่องการดูลักษณะนิสัยใจคอของคนแต่อย่างใด แต่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึงการออกเสียงคำในภาษาไทยของเราที่บางครั้ง “สิ่งที่เห็น” ก็คือ รูปหรือการเขียนคำที่ปรากฏต่อสายตาของเรา อาจจะ “ไม่ใช่สิ่งที่เป็น” นั่นก็คือ เสียงที่เราเปล่งออกมาในชีวิตจริง คิดว่าหลายคนคงจะเกิดความสงสัยและอยากรู้กันขึ้นมาครามครันแล้วว่า ผู้เขียนกำลังจะพูดถึงเรื่องอะไรกันแน่ ผู้อ่านเคยนึกสงสัยหรือไม่ว่า เหตุใดเราจึงออกเสียงคำว่า “น้ำ” ว่า น้าม ซึ่งเป็นสระเสียงยาว ทั้ง ๆ ที่ คำที่ลักษณะเหมือนกัน เช่น ถ้ำ ช้ำ จ้ำ กลับออกเสียงเป็นสระเสียงสั้น หรือคำว่า “ฟิล์ม” ซึ่งรูปสระที่ปรากฏ เป็นรูปสระอิ หรือ พินท์อิ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้น แต่เมื่อเราออกเสียงคำ คำนี้ในชีวิตจริง เรากลับออกเสียงว่า “ฟีม” เป็นเสียงสระเสียงยาว หรือในข้อความที่ว่า “ฉันเดินไปเก้า1ก้าว2ก็ถึงเก้า3อี้” จะเห็นได้ว่า ในข้อความนี้ คำว่า “เก้า” ในคำที่ (1) และ คำที่ (3) จะมีรูปที่ปรากฏแก่สายตาเราเหมือนกันทุกประการ แต่เมื่อเราอ่านออกเสียงจริง ๆ เรากลับออกเสียงคำว่า “เก้า” ในคำที่ (1) และคำที่ (3) แตกต่างกัน โดยในคำที่ (1) จะออกเสียงว่า /ก้าว/ เป็นสระเสียงยาวซึ่งจะออกเสียงเหมือนกันกับคำว่า “ก้าว” ในคำที่ (2) ซึ่งมีรูปการเขียนต่างกัน ส่วนคำว่า “เก้า” ซึ่งเป็นพยางค์แรกของคำว่า “เก้าอี้” กลับออกเสียงเป็นสระเสียงสั้น จากคำทั้งหมดที่ยกมาเป็น ตัวอย่างข้างต้นนี้ คงจะทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของผู้อ่านทุกท่านแล้วว่า เพราะเหตุใดหรือทำไม คำเหล่านี้จึงเกิดปัญหาในการออกเสียง หรือออกเสียงไม่ตรงกับรูปที่ปรากฏ หรือเข้าทำนองที่ว่า “สิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น” ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนต้น

หากจะต้องอธิบายถึงเหตุผลในการออกเสียงของคำต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ ด้วยความเป็นครูภาษาไทยก็คงจะต้องอธิบายเหตุผลได้ 2 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ในประการแรกก็จะต้องบอกว่า เนื่องจากตัวอักษรในภาษาไทยของเรานั้นไม่สามารถจะถ่ายทอดเสียงที่เราเปล่งออกมาตามธรรมชาติได้ทั้งหมด ดังนั้น ในพยางค์แรกของคำว่า “เก้าอี้” ซึ่งแม้เราจะออกเสียงพยางค์นี้เป็นสระเสียงสั้น เราก็ยังคงเขียนรูปของคำเท่ากับพยางค์ที่ออกเสียงเป็นสระเสียงยาว ส่วนในประการที่สองก็คงจะต้องใช้ความเป็นครูสอนภาษาไทยแบบโบราณที่จะต้องสอนถึงเรื่องการแจกลูกในการประสมอักษรตามแนวคิดของแบบเรียนไทยโบราณ และความรู้ในเรื่องของการเขียนรูปสระใน ภาษาไทยที่สามารถจะเป็นสระคงรูป สระลดรูป และสระเปลี่ยนรูปมาช่วยในการอธิบาย เช่น คำว่า “กลอง” เราสามารถจะแจกลูกได้ว่า พยัญชนะ /กล/ ซึ่งเป็นพยัญชนะประสม หรือควบกล้ำ เป็นพยัญชนะต้น ประสมด้วยเสียงสระออ ซึ่งเป็นสระเสียงยาว มีพยัญชนะ /ง/ เป็นเสียงพยัญชนะท้ายและออกเสียงวรรณยุกต์สามัญ ในขณะที่คำว่า “กล่อง” นั้น เราสามารถจะแจกลูกได้ว่า พยัญชนะ /กล/ ซึ่งเป็นพยัญชนะประสม หรือ ควบกล้ำ เป็นพยัญชนะต้น ประสมด้วยสระเอาะ ซึ่งเป็นสระเสียงสั้นแล้วมีการลดรูปเกิดขึ้น และมีพยัญชนะ /ง/ เป็นเสียงพยัญชนะท้าย ออกเสียงวรรณยุกต์เอก

จากคำอธิบายข้างต้นจะทำให้เกิดความยุ่งยากและมองดูเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของระบบไวยากรณ์ของภาษาไทยที่ค่อนข้างมาก และเนื่องจากในการเรียนรู้ทางภาษานั้น ความหมายนับเป็นหัวใจสำคัญของภาษา ส่วนไวยากรณ์และเสียงเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

ดังนั้น การเรียนรู้ภาษาจึงต้องมุ่งที่การเรียนรู้การสื่อความหมาย และการรับรู้ความหมายผ่านทาง ภาษาเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ผู้เรียนจึงสามารถจะเรียนรู้ภาษาทั้งทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางเสียงและไวยากรณ์มาก่อน ความเชื่อพื้นฐานดังกล่าวในการเรียนรู้ภาษานี้เองสอดคล้องกันกับทฤษฎี ที่ว่าด้วยเรื่องการรับรู้ความหมายในภาษา ที่ชื่อว่า LOGOGEN MODEL ของ MORTON ซึ่งกล่าวถึง ธรรมชาติของมนุษย์ที่ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อความหมายเอาไว้ว่า คนเราจะมี LOGOGEN ของคำต่าง ๆ อยู่แล้ว นั่นคือ เราสามารถรับรู้ว่าคำที่เข้ามานั้นออกเสียงอย่างไร คือคนเราเมื่อมีระบบ AUDITORY INPUT LEXICON เสียงของคำที่เข้ามาจะไปกระตุ้น LOGOGEN ของคำที่เรามีอยู่แล้ว คือ สามารถจะรับรู้ได้ทันทีว่า คำนั้นจะต้องออกเสียงอย่างไร ดังนั้น เราก็จะตอบได้ว่า คำที่ได้ยินจากเสียงสั้นหรือยาว คล้ายกับการทำ LEXICAL DECISION TASK คือ ลองออกเสียงคำนั้นทั้งสั้นและยาว เพื่อเปรียบเทียบกันดู แล้วใช้ระบบ LOGOGEN ที่เรามีอยู่แล้วตัดสินว่า คำนี้ต้องออกเสียงที่ถูกต้องอย่างไร เช่น คำว่า “น้ำ” ที่เรามีอยู่แล้วตัดสิน เราก็จะตอบได้ทันทีว่า คำนี้ต้องออกเสียงว่า /น้าม/ ซึ่งเป็นสระเสียงยาว

ดังนั้น เราก็คงจะได้คำตอบกันแล้วใน “สิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่เป็น” ว่าแท้ที่จริงสิ่งที่มันเป็นนั้นคืออย่างไรกันแน่ และยังเป็นคำตอบที่สามารถจะใช้คำอธิบาย โดยอาศัยทฤษฎีและความเชื่อ พื้นฐานของธรรมชาติในการเรียนรู้ภาษาที่คนที่ใช้ภาษาไทยทุกคนสามารถจะเกิดความเข้าใจได้โดยไม่ยุ่งยากเท่าใดนัก และในความคิดของผู้เขียนแล้ว การเรียนรู้ภาษาควรอาศัยวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับประสบการณ์ในชีวิตจริงให้มากที่สุด ส่วนการเรียนในเรื่อง กฎเกณฑ์หรือไวยากรณ์ทางภาษาควรจะเรียนรู้ในลำดับเวลาต่อมา เมื่อผู้เรียนมีพัฒนาการทางภาษาแล้วเป็นอย่างดีในระดับหนึ่งก่อน เพื่อผู้เรียนจะได้เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาประจำชาติของตน และไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นอคติจนอาจกลายเป็นปฏิปักษ์ไปได้ในบัดดล ทั้งต่อวิชาภาษาไทยอันเป็นภาษาประจำชาติ และต่อครูผู้สอนภาษาไทยที่ไม่มีความผิดอะไรมาก่อนเลย และ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา จะได้เลิกกล่าวหาว่าวิชาภาษาไทยเป็นยาขมหม้อใหญ่ที่ทุกคนไม่ต้องการกันเสียที

*อาจารย์ประจำแผนกวิชาภาษาไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ศษ.บ. (เกียรตินิยม อันดับ 2) , กศ.ม. (ภาษาไทย)

เอกสารอ้างอิง
วิชาการ, กรม. วรรณลักษณ์วิจารณ์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา , 2542.
สมถวิล วิเศษสมบัติ. วิธีสอนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์อักษร บัณฑิต , 2528.
Jahnke , John C. and Nowaczyk , Ronald H. Cognition. Prentice – Hall , Inc , 1988.

  1. ยังไม่มีความคิดเห็น
  1. ยังไม่มี trackbacks